
จับตาทิศทางตลาดหุ้นเอเชียในวันนี้ หลังจากดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดีดตัวขึ้นกว่า 200 จุดในช่วงเช้านี้ โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงช้อนซื้อหลังจากดาวโจนส์ร่วงลงติดต่อกัน 8 สัปดาห์
ณ เวลา 06.36 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้น 221 จุด หรือ +0.71% แตะที่ 31,434 จุด
ในสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 2.9% ขณะที่ดัชนี S&P500 ร่วงลง 3.0% และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 3.8%
— นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยทางการสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1/2565 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย., และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย.
— นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญกับภาวะถดถอยทั้งในปีนี้และในปีหน้า นอกเสียจากว่า จะมีผลกระทบที่ใหญ่หลวงเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐ
นายบูลลาร์ดให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในการประชุมครั้งต่อไปนั้นเป็นแผนการที่ดี โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ นายบูลลาร์ดกล่าวว่า การเทขายหุ้นสหรัฐในช่วงที่ผ่านมานั้นไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะส่วนหนึ่งนั้นเป็นปฏิกิริยาต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเขาคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐจะขยายตัว 2.5-3% ในปีนี้ และอัตราการว่างงานอาจลดลงต่ำกว่าระดับ 3% ภายในสิ้นปี
— ข้อมูลจากริฟินิทีฟ ลิปเปอร์ (Refinitiv Lipper) บ่งชี้ว่า นักลงทุนทั่วโลกได้ปรับลดการลงทุนในกองทุนพันธบัตรและกองทุนหุ้นในสัปดาห์นี้ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 18 พ.ค. เนื่องจากมีความวิตกว่า ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ นักลงทุนได้เทขายกองทุนพันธบัตรโลกเป็นมูลค่าสุทธิ 1.857 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นยอดเงินทุนไหลออกรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.
อ้างอิง อินโฟเควสท์