
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันที่ 26 ก.ย.65 ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยเปิดตลาดที่ 37.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นมีแรงเทขายจนเงินบาทอ่อนค่าที่สุดลงไปแตะ 37.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 37.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มองกรอบสัปดาห์นี้อยู่ที่ 37.50-38.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สกุลเงินภูมิภาคทำสถิติต่ำสุดในรอบหลายปีเช่นกัน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อ โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ โดยเงินปอนด์อังกฤษอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากสัปดาห์ก่อนค่าเงินปอนด์อ่อนค่าในรอบ 37 ปี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงไปแตะ 37.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ชี้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการดูแลติดตามอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุนต่างชาติด้วย ซึ่งกระทรวงคลังได้สอบถามถึงภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งไม่ได้มีปัจจัยอะไรเป็นพิเศษแบบมีนัยสำคัญ ส่วนกรอบเงินเฟ้อที่หลุดกรอบที่กำหนดไว้นั้น ได้หารือกันเบื้องต้น ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แม้จะหลุดกรอบไปแล้วก็ตาม โดยมาตรการการเงินขึ้นอยู่กับ ธปท.ว่าจะดูแลอย่างไร ส่วนต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนใหญ่ กระทรวงการคลังได้นำมาตรการภาษีเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนวัตถุดิบอื่นๆก็มีการควบคุมราคาขายปลีก รวมถึงการนำเข้าสินค้าบางตัว
อ้างอิง ไทยรัฐ
กิตติรัตน์ ค้านแนวคิดนายแบงก์เสนอให้ขึ้นดอกเบี้ยแรงตามสหรัฐฯ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ขอต่อต้าน คัดค้านเหล่านายธนาคารที่เสนอแนวคิดให้ไทย “ขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ ตามสหรัฐฯ”
เนื่องจากหากบาทอ่อน ค่าครองชีพสูง ส่งออกได้ บริหารให้ดี คนจะมีงานทำ รายได้จะสูง แก้ปัญหาหนี้ได้ เศรษฐกิจจะเติบโตดีอย่างมั่นคง
แต่ถ้าบาทแข็ง นำเข้าสบาย ค่าครองชีพต่ำ แต่รายได้ต่ำเตี้ย ไม่มีปัญญาคืนหนี้(ครัวเรือน) รอวันตายแบบ “กบต้ม”
อ้างอิง อินโฟเควสท์
เฟดตัวป่วนตลาดเงินทั่วโลก

กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ขึ้นสู่ระดับ 3.00–3.25% เป็นไปตามที่บรรดากูรูและนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
แต่ปมสำคัญที่สร้างความแตกตื่น กลายเป็นเมื่อเฟดส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อไปตลอดปีหน้า คาดว่าจะขึ้นสู่ระดับ 4.60% พร้อมคงนโยบายดอกเบี้ยสูงต่อไปจนถึงปี 2567 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้สำเร็จ โดยไม่สนว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว สวนทางกับ บรรดาผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังว่า ปีหน้าเฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยลงบ้าง ทำให้ตลาดเงินโลกเกิดความปั่นป่วนขึ้นมาทันที เงินสกุลหลักๆอ่อนค่าลงรุนแรง!!!
อ้างอิง ไทยรัฐ
ไทย ปักหมุดพร้อมเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ในภูมิภาค

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลสำรวจแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในช่วง 9 ปีข้างหน้า (65-74) ว่า ยังมีแนวโน้มที่เติบโตได้ดี ซึ่งเป็นผลจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล การลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีของไทยกับหลายประเทศ รวมถึงปัจจัยสนับสนุนการส่งออกรถยนต์อื่นๆ
นายอนุชา กล่าวว่า เว็บไซต์ Research and Markets ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมผลงานวิจัยในด้านต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เผยแพร่ผลการสำรวจแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยระหว่างปี 65-74 (Research Report on Thailand’s Automobile Industry,) ระบุว่า ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่เหนือกว่า และการสนับสนุนจากรัฐบาล ประเทศไทยจึงเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถูกเรียกว่าดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia) โดยในปี 64 มูลค่าส่งออกของการผลิตรถยนต์คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของ GDP ของประเทศไทย
สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย เน้นการส่งออก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการส่งออกรถยนต์มากกว่า 1 ล้านคัน ไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และยุโรปทุกปี ขณะที่ภาษีนำเข้ารถยนต์มีแนวโน้มว่าจะลดลง เนื่องจากไทยได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อ้างอิง อินโฟเควสท์
ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน วิตกเศรษฐกิจโลกถดถอย

ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ท่ามกลางความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
ทั้งนี้ ดัชนี Bloomberg Commodity Spot Index ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของราคาสัญญาฟิวเจอร์ของสินค้าโภคภัณฑ์ทุกประเภทตั้งแต่น้ำมันไปจนถึงทองแดงและข้าวสาลีนั้น ปิดวานนี้ (26 ก.ย.) ร่วงลง 1.6% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. โดยดัชนีปรับตัวลงแล้วเกือบ 22% นับตั้งแต่พุ่งแตะระดับสูงสุดในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของสกุลเงินดอลลาร์กำลังส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย เนื่องจากทำให้สัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มอุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์อ่อนแอลงด้วย
อ้างอิง อินโฟเควสท์