
ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าลดลงในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการคาดการณ์เรื่องการเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 26,785.02 จุด ร่วงลง 305.74 จุด หรือ -1.13%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 16,479.74 จุด ลดลง 107.95 จุด หรือ -0.65% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนปิดภาคเช้าที่ 3,060.52 จุด ลดลง 11.47 จุด หรือ -0.37%
หลายประเทศมีกำหนดรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ ขณะที่ ออสเตรเลียจะเปิดเผยข้อมูลการว่างงานและจีนจะประกาศการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR)
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 โดยเตือนเรื่องการแทรกแซงจากกองกำลังภายนอกในไต้หวัน โดยเน้นย้ำว่า จีนจะไม่ปฏิเสธเรื่องการใช้กำลังในการรวมชาติ
หุ้นสหรัฐปิดลบในวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนแสดงให้เห็นว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น
อ้างอิง กรุงเทพธุรกิจ
ธปท. ย้ำดำเนินนโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น ทยอยขึ้นดอกเบี้ย ไม่ทำเศรษฐกิจสะดุด

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2565 ถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่า ในการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยมี 3 ปัจจัยที่ต้องจับตา คือ 1. เงินเฟ้อของทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 8.8% 2. เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงปลายปีนี้-ปีหน้า โดยคาดว่าจะมีจำนวนประเทศ 1 ใน 3 ของโลกที่เศรษฐกิจอาจเติบโตต่ำกว่า 2% และ 3. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และจีน-สหรัฐ ที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก
ในขณะที่ธนาคารกลางของทั่วโลก กำลังมุ่งดำเนินนโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และสูงสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งมีผลกระทบส่งต่อมายังเศรษฐกิจของทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทยเอง นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเปราะบางต่อเสถียรภาพและระบบการเงินโลก ทำให้เห็นสัญญาณความอ่อนไหวของหลายตลาด เช่น ตลาดพันธบัตรในอังกฤษ ตลาดพันธบัตรในสหรฐที่มีความไม่ปกติ จึงนับเป็นความเสี่ยงที่ธนาคารกลางของทุกประเทศต้องดูแลให้เศรษฐกิจของประเทศตัวเองผ่านพ้นความเสี่ยงนี้ไปให้ได้
อ้างอิง อินโฟเควสท์
ปอนด์แข็งค่า 0.8% จับตาขุนคลังอังกฤษคนใหม่เผยแผนการคลังวันนี้

เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ แตะที่ระดับ 1.1254 ดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากนายเจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของอังกฤษประกาศว่า เขาจะเปิดเผยแผนด้านการคลังระยะกลางในวันนี้
คำประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากอังกฤษเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองครั้งใหญ่เมื่อวันศุกร์ (14 ต.ค.) ซึ่งรวมถึงการที่นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สั่งปลดนายควาซี ควาร์เต็ง รัฐมนตรีคลังอังกฤษ และแต่งตั้งนายเจเรมี ฮันท์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศขึ้นดำรงตำแหน่งแทนนายควาร์เต็ง
นอกจากนี้ นางทรัสส์ยังได้ประกาศยกเลิกแผนการปรับลดภาษีซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า ภาษีนิติบุคคลจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 25% หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายควาร์เต็งเปิดเผยว่า ภาษีดังกล่าวจะถูกตรึงไว้ที่ระดับ 19%
อ้างอิง อินโฟเควสท์
ผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นยันเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเพื่อหนุนเศรษฐกิจ

นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น และ BOJ จำเป็นต้องคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (Ultralow Interest Rate Policy) ต่อไป เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง
นายคุโรดะแสดงความเห็นดังกล่าวในระหว่างการแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยยืนยันถึงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำแม้ว่านโยบายดังกล่าวถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ตลาคาดการณ์ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐจะปรับตัวกว้างขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางของทั้งสองประเทศดำเนินนโยบายที่สวนทางกัน โดยธนาคารกลางสหรัฐเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ BOJ ยึงคงใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน
ทางด้านนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวในที่ประชุมรัฐสภาว่า เขาสนับสนุนให้ BOJ ดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างมั่นคงและยั่งยืน
อ้างอิง อินโฟเควสท์
น้ำมัน WTI ฟื้นตัวเกือบ 1% รับแรงหนุนดอลล์อ่อนค่า ตลาดจับตาข้อมูลศก.จีน

ราคาน้ำมัน WTI ฟื้นตัวขึ้นในช่วงเช้านี้ โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ย. ปรับตัวขึ้น 85 เซนต์ หรือ +0.99% แตะที่ 86.46 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลง 0.22% แตะที่ 113.03 ในช่วงเช้านี้ โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
อ้างอิง อินโฟเควสท์