ราคาน้ำมันดิบ (12 ต.ค. 65) ปรับลด กังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า

2022-10-12 | commodities ,Current Affairs ,Forex ,Securities

Photo by Johannes EISELE / AFP

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับลดลง จากสัญญาณความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า

วันที่ 12 ตุลาคม 2565 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับลดลง หลังความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า โดยนาย เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในกลางปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ย และเหตุการณ์ที่รัสเซียส่งกำลังบุกโจมตียูเครน

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 11 ต.ค. 2565 อยู่ที่ 89.35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -1.78 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 94.29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -1.90 เหรียญสหรัฐ

อ้างอิง ประชาชาติธุรกิจ

ธนาคารแห่งประเทศไทยแจงอัตราเงินเฟ้อหลุดเป้ายาวถึงปี 66

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกจดหมายเปิดผนึกชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา และ 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะสูงกว่าขอบบนของเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยระบุว่าปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงกว่าเป้าหมายมาจากแรงกดดันด้านราคา โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 5.23% สูงกว่ากรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1-3% มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1.ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่สูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าในประเทศสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หมวดพลังงานสูงขึ้น 26.27% และ 2.ราคาเนื้อสุกรสูงขึ้นมากจากการเกิดโรคระบาด รวมทั้งราคาอาหารหมวดอื่นๆสูงขึ้นตามราคาอาหารสัตว์ และปุ๋ยที่สูงขึ้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้านั้น ธปท.ระบุว่า ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.9% ซึ่งยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินของ ธปท.เพราะแม้ว่าค่าพลังงานจะเริ่มทยอยลดลงแต่ยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 2.9% โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ 0.46% นอกจากนั้น เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น 3.8% ในปี 66 จะเอื้อให้ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนสินค้าไปยังราคาสินค้าได้มากขึ้น

อ้างอิง ไทยรัฐ

ตลาดหุ้นเอเชียปิดเช้าลบ นักลงทุนวิตกเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าลดลงในวันนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (บีโอเค) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่เพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ นักลงทุนกำลังรอคอยสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 26,364.25 จุด ลดลง 37.00 จุด หรือ -0.14%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 16,495.52 จุด ลดลง 336.84 จุด หรือ -2.00% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนปิดภาคเช้าที่ 2,943.24 จุด ลดลง 36.55 จุด หรือ -1.23%

เงินเยนของญี่ปุ่นร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี แตะกรอบล่างของ 146 เยนต่อดอลลาร์ที่ตลาดโตเกียวเช้าวันนี้ โดยถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยในเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

บีโอเค มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 3.00% ในการประชุมวันนี้ตามความคาดหมาย เนื่องจากต้องการเร่งฉุดเงินเฟ้อลง แม้มีความวิตกกังวลว่าอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอการเติบโตมากจนเกินไปก็ตาม

อ้างอิง กรุงเทพธุรกิจ

แบงก์ชาติเกาหลีใต้ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 3.00% ตามคาด หวังสกัดเงินเฟ้อ

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่อีกรอบในวันนี้ (12 ต.ค.) เนื่องจากต้องการเร่งฉุดเงินเฟ้อลง แม้มีความวิตกกังวลว่าอาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตชะลอตัวมากจนเกินไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 3.00% โดยเป็นครั้งแรกในรอบประมาณ 10 ปีที่อัตราดอกเบี้ยพุ่งแตะกรอบ 3.00%

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนี้เป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 8 นับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่ผ่านมา โดยมีการปรับขึ้นแล้วทั้งสิ้น 2.50% หลังจากที่ BOK กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

อ้างอิง อินโฟเควสท์

เยนทรุดเช้านี้แตะ 146 เยนต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี

เงินเยนอ่อนค่าลงแตะ 146 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายช่วงเช้านี้ ซึ่งเป็นระดับที่เยนอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 24 ปี และอ่อนค่าต่ำกว่าระดับที่รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเมื่อเดือนที่แล้ว

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมาเพื่อหนุนค่าเงินเยน หลังจากอ่อนค่าแตะ 145.90 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นการแทรกแซงตลาดเพื่อซื้อเยนและขายดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2541

อ้างอิง อินโฟเควสท์

ข่าวสารการลงทุนIconBrandElement

article-thumbnail

2024-05-02 | ข่าวสารการลงทุน

Non-Farm Payroll ประจำเดือนเมษายน

article-thumbnail

2023-05-24 | ข่าวสารการลงทุน

แบงก์ชาติไต้หวันเล็งพิจารณาเงินเฟ้อ-จีดีพีก่อนปรับดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า

ติดตามสรุปข่าวการเงินและการลงทุนประจำวันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2566 ได้ที่นี่

article-thumbnail

2023-05-23 | ข่าวสารการลงทุน

เงินเฟ้อฮ่องกงพุ่ง 2.1% ในเดือนเม.ย. เหตุราคาสินค้าสูงต่อเนื่อง

ติดตามสรุปข่าวการเงินและการลงทุนประจำวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566 ได้ที่นี่