
คาดเฟดประกาศแผนการลดวงเงิน QE อย่างเป็นทางการ ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 2-3 พ.ย. นี้

การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 2-3 พ.ย. ที่จะถึงนี้
จะเป็นรอบการประชุมที่สำคัญ เนื่องจากเฟดน่าจะมีการประกาศการลดวงเงิน QE อย่างเป็นทางการ ขณะที่เฟดน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25%
เฟดน่าจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินตามแผนที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้าว่าเฟดจะเริ่ม
ลดวงเงิน QE ภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะสิ้นสุดการลดวงเงิน QE ภายในกลางปี 2565
ซึ่งแปลว่าเฟดอาจทยอยลดวงเงิน QE เดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งเป็นการลดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเดือนละ 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวงเงินปัจจุบันที่ 8.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และการลดการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (mortgage-backed securities) เดือนละ 0.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวงเงินปัจจุบันที่ 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ซึ่งจะส่งผลให้วงเงิน QE ทั้งหมดที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนในปัจจุบันหมดลงในช่วงกลางปีหน้าตามที่เฟดได้ส่งสัญญาณไว้
ความกังวลหลักของเฟดอยู่ที่ประเด็นด้านเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นอย่างมาก และอาจจะลากยาวกว่าที่เคยประเมิน อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนก.ย. ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.4% YoY สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างมากที่ 8.6% YoY ตามปัจจัยด้านราคาพลังงานและปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน
ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่คลี่คลายลงในระยะอันใกล้ ทั้งนี้ แม้ว่าการลดวงเงิน QE อาจจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเงินเฟ้ออย่างตรงจุด เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยทางฝั่งอุปทานที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตนั้นสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายผ่านการลดวงเงิน QE จะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation) และแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ ซึ่งจะช่วยหยุดยั้งวงจรเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโมเมนตัมที่
จะชะลอตัวลง ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนแรงงานรวมถึงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด
ของโควิด-19 ที่ยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออาจจะลากยาวกว่าที่เคยประเมิน ส่งผลให้เฟดคงจะต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจและด้านเงินเฟ้อในการพิจารณาจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า
โดยหากเฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ควรนอกจากจะสร้างความผันผวนมากขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนแล้ว ยังอาจยิ่งบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ได้หมดไป อีกทั้งยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
ขีดจำกัดในฝั่งอุปทานซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นและส่งผลให้ผู้ผลิตอาจเพิ่มกำลังการผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
สำหรับผลกระทบในฝั่งตลาดเงินตลาดทุน เนื่องจากตลาดได้รับรู้แผนการลดวงเงิน QE
ไปแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้น การประกาศลดวงเงิน QE ในการประชุมที่จะถึงนี้น่าจะส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนให้เกิดความผันผวนอย่างจำกัด อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามผลการประชุมว่าเฟดจะส่งสัญญาณอะไรเพิ่มเติม ซึ่งหากเฟดส่งสัญญาณมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ
เผชิญความเสี่ยงเชิงลบสูงขึ้น อาจส่งผลให้ตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยชะลอออกไปจากที่เคยคาด ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันและมีแนวโน้มอ่อนค่าได้
ขณะที่หากเฟดส่งสัญญาณแสดงความกังวลต่อประเด็นเงินเฟ้อมากกว่าความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาจส่งผลให้ตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยคาด ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ซึ่งแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าคงผันผวนไปตามทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจัยในประเทศ ซึ่งคงต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากมีการเปิดประเทศ ท่ามกลางความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดที่ยังอยู่ในระดับสูง
อ้างอิง: www.ryt9.com/
ดอลลาร์ขยับขึ้น แต่ยังอยู่ใกล้จุดต่ำสุดในรอบเดือน

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในเช้าวันศุกร์ในเอเชีย แต่ยังคงอยู่ใกล้ระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบเดือน ส่วนเงินยูโรแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเดิมพันว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยุโรปก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
- ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เทียบค่าเงินดอลลาร์กับสกุลเงินอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 0.07% เป็น 93.388 เมื่อเวลา 00:16 น. ET (4:16 น. GMT)
- ค่าเงินเยน ขยับขึ้น 0.07% เป็น 113.64 เยนต่อดอลลาร์ ข้อมูลของญี่ปุ่นที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า ดัชนี CPI ในเขตกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นที่ไม่รวมกลุ่มสินค้าอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ ดัชนี CPI ในเขตกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นที่ไม่รวมกลุ่มสินค้าอาหารและพลังงาน หดตัว 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือนในเดือนตุลาคม การผลิตเชิงอุตสาหกรรม หดตัว 5.4% เดือนต่อเดือน อัตราส่วนของตำแหน่งงาน/จำนวนผู้สมัครงาน ญี่ปุ่น อยู่ที่ 1.16 และ อัตราการว่างงานในเดือนกันยายนอยู่ที่ 2.8%
- ดอลลาร์ออสเตรเลีย ขยับขึ้น 0.11% เป็น 0.7552 ยอดค้าปลีก ออสเตรเลียขยายตัวดีเกินคาด 1.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ขณะที่ ดัชนีสินเชื่อภาคเอกชน ขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือนในเดือนกันยายน ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบ ไตรมาสต่อไตรมาส และ 2.9% เมื่อเทียบปีต่อปี ในไตรมาสที่สามของปี 2564
- ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ขยับลง 0.15% เป็น 0.7188
- ค่าเงินหยวน ลดลง 0.01% เป็น 6.3910 หยวนต่อดอลลาร์
- ค่าเงินปอนด์ เพิ่มขึ้น 0.07% เป็น 1.3798 ปอนด์ต่อดอลลาร์
- เงินยูโรส่วนใหญ่ทรงตัวที่ 1.16855 ยูโรต่อดอลลาร์ หลังจากไต่ขึ้นไปถึงระดับสูงสุด
ที่ 1.1692 ยูโรต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน ในช่วงก่อนหน้า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งมอบนโยบายเมื่อวันพฤหัสบดี
ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเห็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เมื่อธนาคารกลาง ซึ่งรวมถึง ธนาคารกลางแคนาดา และธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายเมื่อต้นสัปดาห์ ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางออสเตรเลียในปฏิเสธที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่เป็นหัวใจของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจวันพฤหัสบดี และยังคงจุดยืนตามเดิมในวันศุกร์ โดยธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะส่งมอบการตัดสินใจด้านนโยบายในสัปดาห์ถัดไป ในขณะที่เฟดคาดว่าจะเริ่มลดระดับสินทรัพย์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป BOE คาดว่าจะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
อ้างอิง: th.investing.com/
ตลาดหุ้นเอเชียเปิดบวกในวันนี้ แม้ว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนในเดือนตุลาคมจะหดตัวลง

- ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 29,330.68 จุด พุ่งขึ้น 437.99 จุด หรือ +1.52%,
- ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 25,268.35 จุด ลดลง 108.89 จุด หรือ -0.43% และ
- ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,530.40 จุด ลดลง 16.94 จุด หรือ -0.48%
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนในเดือนตุลาคม ขยับลงมาอยู่ที่ 49.2 จากระดับเดือนกันยายนที่ 49.6 โดยนักสถิติอาวุโสของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน กล่าวว่า สถิติที่ชะลอตัวลงดังกล่าวเกิดจากอุปทานด้านพลังงานที่ยังคงตึงตัว และราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ส่วนดัชนี PMI นอกภาคการผลิตอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 52.4 จากระดับ 53.2 ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ สถิติที่อยู่สูงกว่า 50 นั้น บ่งชี้ถึงการขยายตัว ขณะที่สถิติที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวลง
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนตุลาคม จากไฉซิน รวมถึงยอดส่งออก, นำเข้า และดุลการค้าเดือนต.ค.ของเกาหลีใต้ และอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของอินโดนีเซีย
อ้างอิง: www.infoquest.co.th/
ราคาน้ำมันดิบเพิ่ม หลังตลาดคาดกลุ่มโอเปกพลัสลดกำลังผลิตตามข้อตกลงเดิม

ปัจจัยบวก ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน หลังนักวิเคราะห์คาดการณ์การประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 4 พ.ย. 2564 จะมีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพียง 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ในเดือน ธ.ค. 2564 ตามข้อตกลงเดิม โดยแองจีเรียเห็นว่ากลุ่มโอเปกพลัสไม่ควรเพิ่มกำลังการผลิตเกิน 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากตลาดยังมีความไม่แน่นอนสูง
ปัจจัยลบ อิหร่านประกาศที่จะเริ่มการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ภายในเดือน พ.ย. 2564 กับประเทศมหาอำนาจ ทำให้ตลาดกังวลปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านอาจเพิ่มขึ้น รวมทั้งจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 29 ต.ค. 2564 เพิ่มขึ้น 2 แท่น แตะระดับ 544 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 หลังราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จูงใจให้ผู้ผลิตกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง และราคาก๊าซธรรมชาติอังกฤษและยุโรป เริ่มปรับตัวลดลง หลังรัสเซียประกาศส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังถังเก็บก๊าซธรรมชาติในยุโรปเพิ่มเติม
ราคาน้ำมันเบนซิน
ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 22 ต.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 9.323 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 63 ราว 9.1%
ราคาน้ำมันดีเซล
ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์
ณ สัปดาห์สิ้นสุด 27 ต.ค. 2564 ปรับเพิ่มขึ้น 9.95%
อ้างอิง: www.prachachat.net/